Youth of May ในความทรงจำที่ควังจู ตอนที่ 1 -24 จบ

ในความทรงจำที่ควังจู Youth of May

เรื่องย่อ ในความทรงจำที่ควังจู Youth of May

ปี 2021 มีการขุดพบโครงกระดูกไม่ทราบชื่อ สันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในควังจูเมื่อ 41 ปีก่อน สมัยนั้น ฮวังฮีแท (อีโดฮยอน) เป็นหนุ่มนักศึกษาแพทย์ที่เป็นความภาคภูมิใจของเมือง แต่เขาก็ไม่เคยสนใจการชุมนุมประท้วงแบบนักศึกษาคนอื่น ในขณะที่คิมมยองฮี (โกมินชี) พยาบาลสาวกำลังหาเงินเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เธอได้รับงานจากเพื่อนให้ปลอมตัวไปงานนัดบอดแทน มยองฮีกับฮีแทจึงได้มาพบกันท่ามกลางวังวนของโชคชะตาที่กำลังขับเคลื่อน ทั้งคู่ได้ตกหลุมรักกันในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 ภายใต้สถานการณ์การประท้วงที่ทวีความดุเดือดรุนแรงขึ้นทุกที

 

 

Youth of May เล่าถึงสัมพันธ์รักอันซับซ้อนวุ่นวายระหว่าง ฮวังฮีแท (รับบทโดย อีโดฮยอน) -นักศึกษาแพทย์บ้านรวยจากโซล- กับ คิมมยองฮี (โกมินซี) -พยาบาลสาวสู้ชีวิต- ที่ต้องมาพัวพันกัน เพียงเพราะฝ่ายหลังถูกไหว้วานจากเพื่อนสาวคนสนิทให้มา ‘ปลอมตัว’ เพื่อนัดบอดกับฝ่ายแรกตามคำสั่งของพ่อ โดยเหตุการณ์นี้ถูกวางไว้ให้เกิดขึ้นในเมืองควังจู ช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 1980 ก่อนที่การลุกฮือขึ้นของผู้คนฝั่งประชาธิปไตย-ทั้งนักศึกษาและประชาชน-ในควังจู เพื่อประท้วงต่อต้านการบังคับใช้กฎอัยการศึกและความไม่ชอบธรรมในอำนาจปกครองของรัฐบาลเผด็จการโดยอดีตประธานาธิบดี ชอนดูฮวัน จะนำไปสู่การสังหารหมู่ประชาชนด้วยกองกำลังทหารที่มองพวกเขาว่าเป็นเพียง ‘คอมมิวนิสต์’ ผู้กระด้างกระเดื่องที่ควรกำจัดทิ้งให้สิ้นซาก

 

แม้การเปิดเรื่องด้วยการขุดพบโครงกระดูกลึกลับในเขตก่อสร้างของเมืองควังจูยุคปัจจุบัน จะช่วยวางโทนจริงจังมาตั้งแต่แรก ว่านั่นอาจเป็นศพของประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยคนหนึ่งจากช่วงเวลานั้น ทว่าตลอดช่วงหลายตอนแรก ผู้เล่ากลับเลือกที่จะเน้นไปยังความสัมพันธ์พ่อแง่แม่งอนระหว่างฮีแทกับมยองฮีเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งช่วงเวลาแห่งรักแรกพบ, การเรียนรู้ปัญหาและความลับของกันและกัน, การทะเลาะผิดใจตามประสาหนุ่มสาว ไปจนถึงมุกตลกไร้สาระที่ผู้ชมสามารถพบเจอได้ทั่วไปในหนัง/ซีรีส์แนว ‘โรแมนติกคอมเมดี้’

แต่ขณะเดียวกันนั้น ซีรีส์ก็จะค่อยๆ เผยรายละเอียดของตัวละครที่ดูจะ ‘เป็นไปตามสูตรสำเร็จ’ นี้ ให้ผู้ชมเห็นได้ว่า ถึงฮีแทจะดูไม่สนใจกับการประท้วงของเพื่อนนักศึกษา แถมยังมีพ่อเป็นหัวหน้าฝ่ายสืบสวนคอมมิวนิสต์ แต่อุบัติเหตุบางอย่างจากเหตุการณ์นี้ก็ได้สร้างปมในจิตใจของเขาไม่แพ้ใคร ส่วนมยองฮีที่กำลังไล่ตามความฝันเพื่อไปเรียนพยาบาลต่อที่เยอรมนี ก็ยังแสดงความแข็งขันและความเสียสละออกมาในทุกครั้งที่ต้องดูแลผู้ป่วย หรือพบเจอกับความอยุติธรรมในสังคม

 

ซงมินยอบ ผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้เผยว่า เขาตั้งใจจะถ่ายทอด ‘ชีวิต’ อันแสนธรรมดาของผู้คนในช่วงเวลานั้นออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ และพยายามแสดงให้เห็นถึง ‘ความเศร้า’ หรือแม้แต่ ‘ความเกลียดชัง’ ของผู้คนที่ถูกปัจจัยบีบคั้นให้ต้องเลือกทำบางอย่างในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10 วันแห่งการปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งเริ่มต้นด้วยการที่ทหารกราดยิงนักศึกษาที่มาชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยชอนนัม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 ก่อนจะตีวงแผ่ขยายไป ‘กำราบ’ ชาวบ้านจำนวนหลายหมื่นคนที่ลุกขึ้นมาประท้วงตามจุดต่างๆ ของควังจู เนื่องจากโกรธแค้นกับการสังหารหมู่นั้น ซึ่งก็ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลักร้อยคน และบาดเจ็บอีกหลายพันคน โดยในจำนวนนั้นมีทั้งเด็กเล็ก, หญิงตั้งครรภ์, คนพิการ และคนชรารวมอยู่ด้วย

ประชาชนเหล่านี้ล้วนถูกทหารของรัฐบาลกระทำการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดเกินมนุษย์ ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ยังคงเป็นบาดแผลฝังแน่นในจิตใจของใครหลายคน แม้ว่าชอนดูฮวันและอดีตผู้มีอำนาจในรัฐบาลของเขาที่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมครั้งนั้น จะถูกตัดสินลงโทษในอีกหลายทศวรรษถัดมา, มีการสร้างอนุสรณ์สถาน 18 พฤษภา และกระทรวงกลาโหมได้ออกมากล่าวขอโทษต่อประชาชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางชีวิต ร่างกาย และจิตใจ แต่แน่นอนว่า มันยังคงเป็นเรื่องราวที่ ‘เปราะบาง’ จนสามารถก่อให้เกิด ‘ความขัดแย้ง’ ระหว่างผู้ชม-ทั้งฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามและฝ่ายที่ต่อต้าน-ได้ในทุกครั้งที่คนทำหนัง/ซีรีส์หยิบยกมาบอกเล่า ไม่ว่าจะเป็น Peppermint Candy (1999 – เล่าผ่านมุมของอดีตทหารที่สังหารประชาชน), May 18 (2007 – เล่าเหตุการณ์ความรุนแรงตลอด 10 วันนั้นอย่างละเอียดและแสนสะเทือนใจ) หรือ A Taxi Driver (2017 – เล่าผ่านคนขับแท็กซี่ที่พานักข่าวเยอรมันลักลอบเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์เลวร้ายในควังจู จนทำให้ชาวโลกได้รับรู้)

การเลือกใช้แนวทางการเล่าเรื่องแบบ ‘โรแมนติกคอมเมดี้’ ที่ดูเหมือนจะมีแต่สัมพันธ์รักที่ชวนให้ใจฟู และมุกตลกที่ทำให้หัวเราะได้ในช่วงต้นของเรื่องราวนั้น จึงไม่ใช่ความตั้งใจของผู้สร้างที่จะเปลี่ยนแปลงบรรยากาศอันหดหู่ของเรื่องเล่า หากแต่เป็นการใช้แนวทางดังกล่าวสำหรับเชื่อมโยงความรู้สึกระหว่างตัวละครกับผู้ชม เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดความทุกข์ในช่วงครึ่งหลังของพวกเขาเหล่านั้น-ซึ่งก็คือภาพแทนของบรรดาผู้คนที่เคยประสบเหตุการณ์นี้จริงๆ ในหน้าประวัติศาสตร์-ได้อย่างทรงพลังมากยิ่งขึ้นไปอีก

หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงท้ายๆ ของซีรีส์น่าจะมีแต่เหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมต่อชีวิตของตัวละครจนอาจทำให้ผู้ชม ‘บ่อน้ำตาแตก’ อย่างแน่นอน (ถึงขั้นมีคนคาดเดาว่า ไม่พระเอกหรือนางเอกอาจมีอันต้องตายจากกัน) แม้จะปราศจากการถ่ายทอดภาพความรุนแรงอันชวนหดหู่สมจริงที่ทหารกระทำต่อประชาชนเหมือนภาพยนตร์เก่าๆ ที่เคยทำกันมา ด้วยความที่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อฉายทางโทรทัศน์ที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถรับชมได้ เรตของซีรีส์จึงถูกจำกัดไว้ที่ผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไปเท่านั้น — กล่าวโดยสรุปก็คือ มันจะเป็นการเน้นหนักไปที่การเล่าถึงความรู้สึกบีบคั้นและความทุกข์ของตัวละครในเรื่อง-ที่ผู้ชมรู้สึกผูกพันรักใคร่มาตั้งแต่ต้นเรื่อง-มากกว่าจะแสดงภาพความรุนแรงของโศกนาฏกรรมอย่างตรงไปตรงมานั่นเอง

Youth of May ออกอากาศทางช่อง KBS2 ของเกาหลีใต้ ทุกคืนวันจันทร์และอังคาร ส่วนในบ้านเรา สามารถรับชมได้ทาง Viu

(Visited 15,765 times, 3 visits today)

You might be interested in